Blogger by Hasana

ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมชมค่ะ

อธิบายและยกตัวอย่าง

 การอธิบายและยกตัวอย่าง
เทคนิคการอธิบาย  หมายถึง กลวิธีต่างๆที่ใช้ในการพูดแสดงรายละเอียดและให้ตัวอย่างให้ผู้เรียนเข้าใจ เกิดความชัดเจนในสิ่งนั้น หรือขยายความในลักษณะที่ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจกระทำได้โดยการบอก การตีความ การสาธิต การยกตัวอย่าง ฯลฯ บางครั้งเพื่อให้การอธิบายเป็นที่เข้าใจได้ง่าย อาจจะใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบการอธิบาย ก็จะช่วยทำให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจความหมายได้ดีขึ้น 


รูปแบบของการยกตัวอย่างประกอบการอธิบาย

                 ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์ (ม.ป.ป.หน้า 54) ได้กำหนดการยกตัวอย่างประกอบ
การอธิบาย สามารถกระทำได้ใน 2 แบบ ดังต่อไปนี้
                 1.  แบบนิรนัย (Deductive System) หมายถึง การอธิบายโดยการให้รู้หลัก กฎ สูตรหรือนิยามก่อน แล้วจึงยกตัวอย่างประกอบ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการสอนจากกฎไปหาตัวอย่าง เช่น การสอนวิชาหลักภาษาไทยเกี่ยวกับเรื่องชนิดของคำ โดยผู้สอนอธิบายถึงความหมายของคำนาม ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ จากนั้นผู้สอนยกตัวอย่างคำนาม ได้แก่ ม้า ครู โรงเรียนเป็นต้น ส่วนคำอื่นๆ เช่น สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ ฯลฯ ก็สามารถอธิบายในลักษณะเดียวกัน จากนั้นนำเอาคำต่างๆ มาปะปนกัน แล้วให้ ผู้เรียนตัดสินหรือบอกให้ได้ว่าคำแต่ละคำเป็นคำชนิดใด โดยใช้กฎเกณฑ์ที่เรียนไปนั้นเป็นสิ่งที่ชี้วัดหรืออธิบายเหตุผล
                 2. แบบอุปนัย (Inductive System) หมายถึง การอธิบายโดยการยกตัวอย่างหรือให้รายละเอียดต่างๆ ที่เหมาะสมกับความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สังเกตและพิจารณาจากตัวอย่าง แล้วสรุปเป็นกฎเกณฑ์หรือหลักการขึ้นมาภายหลัง เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยนำวัสดุที่ทำจากสิ่งต่างๆ เช่น ไม้ สังกะสี ทองแดง และอื่นๆ มาต้มให้ความร้อนรวมกัน จากนั้นให้ผู้เรียนสรุปว่าวัสดุชนิดใดสามารถนำความร้อนได้ดีที่สุด



ลักษณะการอธิบายที่ดี
   1.  เวลาที่ใช้ในการอธิบายไม่ควรนานเกินไป โดยปกติใจความที่สำคัญอาจจะใช้เวลาในการอธิบายเพียง 1 นาที หรือน้อยกว่านั้น เวลาที่ใช้ในการอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งในแต่ละครั้ง ไม่ควรเกิน 10 นาที เพราะการใช้เวลาที่ยาวนานเกินไป จะทำให้ผู้ฟังขาดความสนใจ และเกิดการเบื่อหน่าย ซึ่งจะทำให้ยากแก่การทำความเข้าใจและจดจำ             
   2.  ภาษาที่ใช้ควรจะง่ายแก่การเข้าใจ ไม่ต้องแปล รัดกุม น่าฟัง                
  3. สื่อการสอนหรือตัวอย่างที่ใช้ประกอบการอธิบายควรจะมีลักษณะน่าสนใจ และช่วยให้เข้าใจเรื่องที่อธิบายได้ง่ายขึ้น               
 4.  การอธิบายควรจะให้ครอบคลุมใจความสำคัญได้ครบถ้วน              
  5.  การอธิบายควรเริ่มจากเรื่องที่เข้าใจง่ายไปหาเรื่องที่เข้าใจยาก               
 6.  ควรใช้ท่าทางประกอบเพื่อให้การอธิบายน่าสนใจ              
  7.  ควรใช้แนวความคิดหรือการอธิบายของนักเรียนที่ครูให้อธิบายมาเป็นแนวทางในการอธิบายด้วย เพราะความเข้าใจตามแนวความคิดของนักเรียน ถ้าได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจะช่วยให้เข้าใจดีขึ้น                
8.  ควรมีการสรุปประเด็นในการอธิบายด้วย



แนวทางในการฝึกการอธิบาย
                1. อ่านเรื่องให้ตลอดด้วยความตั้งใจ

                2. สรุปใจความที่สำคัญของเรื่องเข้าด้วยกัน

                3. นำใจความสำคัญที่สรุปมาทำแผนการสอน
                4. ทำบันทึกการสอนแบบจุลภาค
                5. ทดลองสอน และประเมินผลการสอน

ข้อควรระลึกถึงในการฝึกการอธิบาย
                1.ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า
                2.ความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือบุคคล
                3.ความพร้อมของครู

วิธีการอธิบายที่ได้ผลดี
             วิธีการอธิบายที่จะช่วยให้การอธิบายได้ผลดียิ่งขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ (เฉลิมศรี ทองแสง, 2538, หน้า 65) ดังต่อไปนี้
                1. กริยา ท่าทางของครู ควรมีกริยาท่าทางคล่องแคล่ว ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง น้ำเสียงน่าฟัง สายตาจับที่นักเรียนอย่างทั่วถึง
          2. ใช้อุปกรณ์ประกอบการอธิบาย ครูควรใช้อุปกรณ์มาประกอบการอธิบาย เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจได้ง่าย รวดเร็วถูก         ต้อง อุปกรณ์ที่ใช้มีหลายชนิด อาจเป็นของจริง
ของจำลอง รูปภาพ แผนที่ แผนภูมิ ฯลฯ
               3. การยกตัวอย่าง ครูควรนำตัวอย่างมาประกอบการอธิบาย เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจถูกต้อง รวดเร็ว และสาระที่อธิบายมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ น่าสนใจ ตัวอย่างที่นำมาประกอบ
การอธิบายอาจจะเป็น คำพังเพย สุภาษิต โคลง กลอน คำขวัญ คติพจน์ เหตุการณ์เรื่องราวบุคคล สิ่งของ เป็นต้น
                4. การเปรียบเทียบ ครูอาจนำสิ่งที่นักเรียนรู้จักดีอยู่แล้วมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ครูอธิบาย เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจรวดเร็วและง่ายขึ้น เช่น เปรียบเทียบผิวโลกของเรามีลักษณะคล้ายผลมะกรูด หัวใจของคนกับเครื่องปั๊มน้ำ เป็นต้น
                5. การทำกิจกรรม หลังจากที่ครูอธิบายให้นักเรียนฟังแล้ว บางเรื่องอาจต้องให้นักเรียนได้ฝึก ทดลองทำ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจดียิ่งขึ้น และฝึกการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ ภาษาไทย การฝึกหัดตอนกิ่ง ติดตา เป็นต้น

ขั้นตอนการฝึกทักษะการอธิบายและยกตัวอย่าง
             การอธิบายและยกตัวอย่าง ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์ (ม.ป.ป.หน้า 55) และเฉลิมศรี ทองแสง (2538, หน้า 66) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการฝึกทักษะการอธิบายและยกตัวอย่างไว้ดังนี้
             1.  เลือกหัวข้อที่สามารถให้ตัวอย่างประกอบได้มากๆ
             2.  ขยายข้อความสำคัญโดยการยกตัวอย่างจากง่ายไปหายาก
             3.  ตัวอย่างที่ใช้ควรเหมาะสมกับพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของนักเรียน
             4.  มีการทดสอบความเข้าใจของนักเรียน

  การอธิบายจะสามารถทำให้ผู้เรียนมีความเข้ารู้ ความเข้าใจมากยิ่ง เมื่อสามารถนำการยกตัวอย่างมาประกอบการอธิบายด้วยเสมอ



เอกสารอ้างอิง

เฉลิมศรี  ทองแสง. (2538). ทักษะและเทคนิคการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 2). ลพบุรี:สถาบันราชภัฎเทพสตรี.
ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์. (ม.ป.ป.). ทักษะและเทคนิคการสอน. ลพบุรี: สถาบันราชภัฎเทพสตรี.
อัญชลี  แจ่มเริญ และคณะ.  หลักการสอนและการเตรียมประสบการณ์ภาคปฏิบัติพิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯเฉลิมชัยการพิมพ์, 2526.