Blogger by Hasana

ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมชมค่ะ

การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม


เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม

                คุณธรรม หมายถึง คุณสมบัติภายในใจใดๆ ก็ตามที่เป็นคุณสมบัติไม่เป็นโทษ  
ส่วน จริยธรรม  หมายถึง  สิ่งควรประพฤติอัน ได้แก่  พฤติกรรมเป็นการกระทำ ทางกาย วาจา  ใจ  อันดีงามที่ควรปฏิบัติ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า  คุณธรรม และจริยธรรม  หมายถึง  คุณงามความดีของบุคคลที่กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยได้ยึดถือจนเป็นความเคยชิน อันเป็นคุณลักษณะหรือพฤติกรรมที่ดีงาม เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องของตนเอง ผู้อื่นและสังคม
ปัจจุบัน ทุกสถาบันการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าในกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกรายวิชา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียนควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จให้แก่ชีวิตของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้แก่สังคมไทยด้วย ซึ่งจากการเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำห้ได้ข้อคิดที่ว่า กระบวนการสอดแทรกคุณธรรมต้องทำแบบเชื่อมโยง ตามองค์ประกอบต่อไปนี้       
 
           1.
 สถานที่และสภาพแวดล้อมในสถาบันการศึกษาเอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมเช่น มีความสะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อย ร่มรื่น เป็นต้น   
         
  2. บุคคล หมาย ถึง ทุกคนในองค์กรที่ต้องเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม และต้องช่วยกันสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษา มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ           
          
 3. หลักสูตร หมายถึง ทุกรายวิชาต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปด้วยอาจมากหรือน้อยก็ได้   ทั้ง นี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หมายความว่า อาจารย์ทุกท่านจะต้องทำหน้าที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปในเนื้อหาของทุกรายวิชาที่เปิดสอน    
          
 4. กิจกรรม หมาย ถึง ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักศึกษาที่จัดขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและนอก มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกิจกรรมในชั้นเรียน ต้องมุ่งเน้นให้เกิดความสำนึกในคุณธรรม จริยธรรม เป็นสำคัญ 
          
 การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมทั้ง 4 ข้อนั้น ต้องทำให้เป็นเอกีภาพ หมายถึง ทุกหน่วยงาน บุคลากรทุกคนต้องร่วมใจกันทำ และต้องมีลักษณะเป็น อนุสาสนี หมายถึง การสอดแทรกอย่างต่อเนื่อง มิใช่ ทำ ๆ หยุด ๆ เหมือนไฟไหม้ฟาง และต้องกำหนดเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

วิธีการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในรายวิชาที่สอน
                         การสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักศึกษานั้นสามารถทำได้ในทุกรายวิชา ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าจะใช้วิธีการใดในการสอดแทรก ซึ่งขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เคยใช้มาตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นผู้สอน ดังต่อไปนี้

            1. การให้นักศึกษาได้ค้นพบคุณธรรม จริยธรรมจากประสบการณ์ตรงจากเนื้อหาของกิจกรรมหรือตัวบุคคลต้นแบบ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
                1.1 การนำนักศึกษาไปศึกษาและปฏิบัตินอกสถานที่ ซึ่งต้องกำหนดให้สอดคล้องกับรายวิชา และตั้งจุดมุ่งหมายของการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น
                     1.1.1 การปฏิบัติธรรม เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้การฝึกสมาธิ และสาระที่จะได้จากการฟังธรรม สนทนาธรรมกับพระวิปัสสนาจารย์ นอกจากนี้ ยังได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด เช่น การทำความสะอาด การบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธา เป็นต้น
                     1.1.2 การปลูกป่า ซึ่งทำทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับกองทัพเรือ เป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อวัฏจักรของ ชีวิตอันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษารักและหวงแหนธรรมชาติต่อไป
                     1.1.3 การชื่นชมสุนทรียะจากงานศิลป์ ตามวัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญ เพื่อปลูกฝังความรัก ความหวงแหนในมรดกของชาติที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
                1.2 การเชิญบุคคลต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรมมาให้ข้อคิดกับ     นักศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนได้กำหนดถึงความเหมาะสมของบุคคลต้นแบบ โดยไม่ได้คำนึงว่า บุคคลดังกล่าวต้องเป็นคน  ที่มีชื่อเสียง โด่งดังระดับชาติ แต่เป็นใครก็ได้ที่สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม โดยยึดหลักการที่ว่า แบบที่ดี เป็นสื่อการสอนที่วิเศษสุด
                1.3 การศึกษาจากบุคคลตัวอย่างที่ ต้องกำหนดให้หลากหลายอาชีพ เช่น แม่ค้าขายไข่ปิ้ง คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาได้ไปพูดคุยกับคนเหล่านั้น พร้อมทั้งเก็บหลักฐานและข้อมูลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและส่งผู้สอนเพื่อ ประเมินผล กิจกรรมนี้ เน้นให้นักศึกษาค้นพบคุณธรรม จริยธรรมและวิสัยทัศน์ที่เป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ความสุขตามจากบุคคลตัวอย่างที่ไปศึกษา

            2. การสอดแทรกโดยใช้สื่อการเรียนรู้ ซึ่งทางกลุ่มผู้สอนได้ร่วมกันคัดเลือกสื่อการเรียนรู้ที่มีเนื้อหาสอดคล้อง กับรายวิชาและสามารถสร้างจิตสำนึกหรือปลุกเร้าให้นักศึกษาได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรม ได้แก่สื่อของรายการคนค้นคนของบริษัททีวีบูรพา ดังรายละเอียดโดยสังเขปในหัวข้อต่อไป
            นี่ คือตัวอย่างกิจกรรมที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว โดยกิจกรรมที่จัดขึ้น ส่วนใหญ่ ผู้สอนจะทำการประเมินเพื่อวัดความพึงพอใจในกิจกรรมและเพื่อทราบข้อบกพร่อง หรือข้อควรแก้ไขเพื่อให้กิจกรรมที่จะทำในครั้งต่อไปเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และบรรลุจุดมุ่งหมายมากขึ้น ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและแสดงความคิดเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อ ให้เกิดประโยชน์และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับมากและมากที่สุด


การส่งเสริมคุณธรรมนำความรู้ คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ
1. ขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
                2.ประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะทางการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย
3.ซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกเอนเอง หรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง
4 .มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ และตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเอง และสังคม
5. สุภาพ คือ คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตามสถานภาพ และกาลเทศะมีสัมมาคารวะ เรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจา และท่าทางเป็นผู้มีมารยาทดีงาม วางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
6. สะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม มีความผ่องใส เป็นที่เจริญตา ทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
7. สามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน  ทั้งในฐานะผู้นำ และผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล
8. มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ และผู้ที่มีความเดือดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย และสติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพ่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

เอกสารอ้างอิง
  www.okubon.com/index.php?option=com_content.
www.dmsc.moph.go.th/cleangov/knowledge/Ethics.stm