Blogger by Hasana

ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมชมค่ะ

การเสริมกำลังใจ

  เทคนิคการเสริมกำลังใจ


             เทคนิคการเสริมกำลังใจ  หมายถึง กลวิธีในการใช้วิธีการที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความกล้าแสดงออก ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจเป็นการให้รางวัลหรือคำชมเชยหลังจากที่บุคคลประพฤติปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมตามที่เราต้องการ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าบุคคลมีความรู้สึกประสบความสำเร็จ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ดังนั้นในการสอนผู้สอนควรพยายามสร้างความรู้สึกประสบความสำเร็จให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียน การทดลองของนักจิตวิทยา บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skinner) เกี่ยวกับเรื่องของการเสริมกำลังใจ สรุปเป็นสาระได้ดังนี้
                1. การเสริมกำลังใจคือการให้สิ่งเร้า (รางวัล คำชมเชย ฯลฯ)  แก่ผู้เรียน หลังจากที่เขาทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว จะทำให้เขาอยากจะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก
                2. การเสริมกำลังใจทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
                3. ถ้าพฤติกรรมอะไรก็ตามถ้าแสดงไปแล้วไม่ได้รับการเสริมกำลังใจ พฤติกรรมนั้นจะมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดขึ้นอีก
                4. การให้การเสริมกำลังใจทุกครั้งที่มีการแสดงพฤติกรรมจะทำให้ผู้เรียนทราบว่าการกระทำหรือพฤติกรรมอันไหนที่ทำให้ได้รับรางวัล (การเสริมกำลังใจ) ได้ดีกว่าการเสริมกำลังใจเป็นบางครั้งบางคราว
                5. การลงโทษจะทำให้ผู้เรียนจำได้ว่าพฤติกรรมอย่างไหนที่ไม่ควรทำ ไม่สามารถขจัด พฤติกรรมได้โดยตรง
หลักในการเสริมกำลังใจ
                1.  ควรเสริมกำลังใจทันทีหลังจากผู้เรียนกระทำพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เช่น ดีมาก ดี เก่ง ถูกต้อง ยิ้ม พยักหน้า หรือแสดงความเอาใจใส่ขณะที่นักเรียนพูด ฯลฯ
                2.  ควรเสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสมและมีความเป็นธรรมชาติ
                3.  ควรใช้วิธีเสริมกำลังใจหลาย ๆ วิธี เช่น ใช้ภาษาและท่าทางเพื่อแสดงการยอมรับการตอบสนองหรือพฤติกรรมของผู้เรียน
                4.  การเสริมกำลังใจจะต้องไม่พูดจนเกินความจริง
                5.  ควรเสริมกำลังใจให้ทั่วถึงกับผู้เรียนทุกคน
                6.  ควรเสริมกำลังใจในทางบวกมากกว่าในทางลบ
                7.  ควรเสริมกำลังใจด้วยท่าทางที่จริงใจ
                8.  ไม่ควรใช้การเสริมกำลังใจแบบใดแบบหนึ่งซ้ำ ๆ จนมากเกินไป เพราะจะทำให้เบื่อง่ายและไม่ให้ผลทางจิตวิทยา
                9.  การเสริมกำลังใจควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัย การเสริมกำลังใจบางชนิดอาจเหมาะกับผู้เรียนบางระดับเท่านั้น
วิธีเสริมกำลังใจ
                1.  มีการเสริมกำลังใจด้วยวาจา
                       1.1 มีการชมเชยด้วยการใช้คำพูดต่าง ๆ
                       1.2 การกล่าวชมคำตอบที่ใกล้เคียงคำตอบที่ถูกหรือยกบางส่วนของคำตอบมากล่าวชม
                       1.3 การนำคำตอบที่ถูกต้องของผู้เรียนไปสัมพันธ์กับคำถามหรือคำตอบใหม่
                2. มีการเสริมกำลังใจด้วยท่าทาง
                       2.1 แสดงอาการยอมรับผู้เรียนที่ตอบถูกโดยใช้กริยาท่าทางที่แสดงความพอใจเช่น ยิ้ม พยักหน้า  ฯลฯ
                       2.2 แสดงอาการให้กำลังใจแก่ผู้เรียนที่ตอบผิด
                3. มีการสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในหมู่เพื่อนของผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเสริมกำลังใจ เช่น ให้ปรบมือให้เพื่อน ให้ช่วยกันให้คะแนน ฯลฯ
                4. มีหลักเกณฑ์ในการเสริมกำลังใจ เช่น ใช้วิธีการได้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่บ่อยจนเกินไป เป็นต้น
                5. มีการเสริมกำลังใจอย่างทั่วถึง
การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอน
          1.   เสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสม   เช่น   เมื่อผู้เรียนตอบถูกก็ชมทันที
          2.   ไม่พูดเกินความจริง   มิฉะนั้นผู้ฟังจะขาดความศรัทธา   เช่น   เมื่อผู้เรียนตอบถูกทั้งหมดก็อาจชมว่า เก่งมากๆ”   เก่งจริงๆ   แต่ถ้าผู้เรียนตอบถูกเป็นบางส่วนก็ชมเชยเฉพาะส่วนที่ถูก   พร้อมทั้งแนะนำส่วนที่ผิด
          3.   ใช้วิธีในการเสริมกำลังใจหลายๆ วิธี   ไม่ใช่พูดคำที่ซ้ำซาก   จำเจกับผู้เรียนทุกคน
          4.   ไม่ควรเสริมกำลังใจบางประเภทบ่อยเกินไป   เช่น   การให้รางวัล   เพราะจะทำให้ผู้เรียนไม่เห็นคุณค่าของการเสริมกำลังใจนั้น
          5.   พยายามหาโอกาสเสริมกำลังใจให้ทั่วถึงกัน (ไม่จำเป็นต้องเสริมในชั่วโมงเดียวกัน)   โดยใช้วิธีการเสริมกำลังใจต่างกัน   และในโอกาสต่างๆ กัน
          6.   การเสริมกำลังใจควรเป็นไปในทางบวกมากกว่าทางลบ
          7.   การเสริมกำลังใจไม่ควรมาจากวิทยากรเพียงคนเดียว   ควรใช้สิ่งแวดล้อมช่วยด้วย   เช่น   ให้ผู้เรียนคนอื่นปรบมือ
          8.   เสริมกำลังใจด้วยท่าทีที่จริงจัง   อาจต้องใช้วาจาและท่าทางประกอบด้วย
เอกสารอ้างอิง
ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์. (ม.ป.ป.). ทักษะและเทคนิคการสอน. ลพบุรี: สถาบันราชภัฎเทพสตรี.
  http://www.oknation.net/blog/Duplex/2008/02/01/entry-17